"โรคแคงเกอร์" เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้พืชผลอย่าง มะนาว มะกรูด และส้มโอ มีรอยแผลเป็นจุดนูนสีน้ำตาลเล็กๆ และล้อมรอบด้วยวงเหลืองอย่างกระจัดกระจาย แต่ตรงกลางเป็นรอยบุ๋ม โดยแบคทีเรียก่อโรคจะระบาดไปยังต้นอื่นเรื่อยๆ ซึ่งเกษตรกรจะแก้ปัญหาด้วยการฉีดพ่นคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์กับคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แต่สารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ทำให้ต้นมะนาวกลายเป็นสีน้ำเงิน และหากใช้มากๆ อาจทำให้มะนาวไม่ติดผลหรือดอกร่วง อีกทั้งยังมีสารตกค้างถึงผู้บริโภค
ทีมวิจัย พร้อม ศ.ดร.จิติ หนูแก้ว คณบดีวิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง พบว่าซิงค์ออกไซด์ช่วยแก้ปัญหาโรคแคงเกอร์ในมะนาวได้ จึงได้ติดต่อ นางธนภร ธนภัทรเดชา กำนัน ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เจ้าของสวนมะนาวธนภร ซึ่งปลูกมะนาวพันธุ์แป้นเกษตรประมาณ 60 ไร่ เพื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยการยับยั้งเชื้อราฆ่าแบคทีเรียของวิทยาลัย และ ดร.วิรัตน์ยังบอกด้วยว่า เมื่อไปถึงสวนของกำนันธรภรแล้ว พบว่ามะนาวทั้งสวนเป็นสีน้ำเงินจากการใช้คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์
ผลจากการทดลองใช้ซิงค์ออกไซด์ในส่วนของนางธนภรเป็นเวลา 1 ปี พบว่าโรคแคงเกอร์ไมแพร่ระบาด และทางเจ้าของสวนได้นำต้นมะนาวที่เป็นโรคออกจากสวนทั้งหมดแล้ว ส่วนลูกมะนาวจากต้นที่ไม่เป็นโรคก็มีผิวสวย ลูกโตขึ้น และจำหน่ายได้เต็มราคา เนื่องจากผลมะนาวที่เป็นโรคนั้นจะขายได้ราคาไม่ดี อีกทั้งประหยัดต้นทุนจากลดใช้สารเคมีกำจัดแบคทีเรีย ซึ่งเกษตรกรรายอื่นๆ ที่เห็นความสำเร็จก็หันมาใช้นาโนซิงค์ออกไซด์เพื่อแก้ปัญหาโรคแคงเกอร์บ้าง
ด้าน ดร.วิรัตน์ เจริญบุญ อธิบายเพิ่มเติมว่า ซิงค์ออกไซด์คือสังกะสีที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน มีลักษณะเป็นผงอนุภาคละเอียดสีขาว และเป็นส่วนประกอบที่นิยมใช้ผลิต “คาลาไมน์” ทาผิวเพื่อแก้อาการผดผื่น โดยคุณสมบัติของอนุภาคดังกล่าว ช่วยยับยั้งเชื้อราที่กัดกินใบพืช และมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย โดยทีมวิจัยได้ใช้ผงนาโนซิงค์ออกไซด์ผสมน้ำเพื่อฉีดพ่นสวนมะนาว ในอัตราส่วน 50 กรัมต่อน้ำ 200 ลิตร สำหรับพื้นที่ 1 ไร่ และฉีดซ้ำทุก 10-15 วัน พบว่าอาการของโรคลดลง
อย่างไรก็ตาม ทางทีมวิจัยกำลังศึกษาผลระยะยาว ว่านาโนซิงค์ออกไซด์จะส่งผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ หรือไม่ แต่ขณะพบว่ายังให้ผลในทางบวก และคาดว่าจะนำไปใช้ทดลองกับพืชชนิดอื่นๆ ที่เป็นโรคเชื้อราและแบคทีเรียต่อไป เช่น ยางพารา เป็นต้น
ธนภรเล่าย้อนอดีตว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้วได้รับการชักชวนให้เปลี่ยนจากการทำสวนผักมาทำสวนมะนาว เพื่อให้เกิดกลุ่มเกษตรกรสวนมะนาวในอ.ด่านช้าง จึงตัดสินใจ ลงทุนซื้อกิ่งพันธุ์มะนาวแป้น 220 กิ่ง มูลค่า 5,500 บาท และพลิกดินจากแปลงผักเป็นสวนมะนาวอย่างจริงจัง “ตลอดเวลาปลูกมะนาว ทำไปก็คิดไปว่าจะสำเร็จหรือจะล่มเหมือนสวนผัก อีกทั้งประสบการณ์ก็ไม่มี แถมโรคแคงเกอร์ระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เหมือนการดื้อยา ขนาดที่ว่าแม้จะฉีดยาเพิ่มมากแค่ไหนก็เอาไม่อยู่ เหลือดอกผลไว้ให้ลุ้นในช่วงเก็บเกี่ยวเพียง 20% เท่านั้น”
ปัจจุบันสวนมะนาวทรัพย์ธนภรหันมาใช้นาโนซิงค์ออกไซด์ฉีดพ่นแก้ปัญหาโรค แคงเกอร์ ครอบคลุมสวนมะนาวทั้ง 60 ไร่ โดยผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดีส่งไปจำหน่ายยังตลาดไทและปากคลองตลาดเป็นลูกค้าหลัก ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมเท่าตัวจากผลิตผลที่มีคุณภาพ และลดค่าใช้จ่ายในส่วนของยากำจัดศัตรูพืช“แต่ก่อนแคงเกอร์รุมเร้าหนักมาก จะใช้ผงเขียวที่เป็นคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์กับคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์สำหรับกำจัดศัตรูพืชฉีดลงมะนาว แต่หลังได้ยินว่ามีโครงการวิจัยแก้โรคแคงเกอร์จึงลองเข้าร่วมดู ครั้งแรกลองฉีดแค่ 4 ไร่ ผลที่ออกมาพบใบที่เป็นแคงเกอร์หยุดลามไปยังใบอื่น และผลัดใบที่มีอาการของโรคทิ้ง อีกทั้งยังเสริมฤทธิ์ยาฆ่าแมลง ตอนนี้เลยใช้หมดทั้งหมด รู้สึกว่ามะนาวที่ได้เป็นมะนาวเกรดเอ ซึ่งยังช่วยประหยัดต้นทุนให้เกษตรกรมากขึ้น ทำให้ได้ราคาหน้าสวนเต็มๆ ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม" นางธนภรบอกแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ระหว่างลงพื้นที่เพื่อสำรวจความสำเร็จของการใช้นาโนซิงค์ออกไซด์แก้ปัญหาโรคแคงเกอร์
จากเดิมมีต้นทุนในการดูแลต่อไร่ 100 บาท หลังจากมีการใช้อนุภาคนาโนฯ ทำให้ต้นทุนที่ใช้ลดลง เหลือเพียงไร่ละ 25 บาทเท่านั้น ส่งผลให้สวนของเขามีรายได้ตกเดือน 1 แสนบาท
ก็นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่เป็นความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวในอนาคตได้ หากสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดที่วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง กรุงเทพฯ หรือ โทร.0-2329-8000 ต่อ 3034 หรือศูนย์วิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรด่านช้าง โทร.0-2329-8000 ต่อ 3076
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น